
อุณหภูมิที่สูงขึ้นในฤดูร้อน มีผลกระทบให้เกิดความแห้งแล้งซึ่งอากาศแบบนี้เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคอย่างมาก
โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย จึงส่งผลให้เราต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ชีวิตกันมากขึ้นนั่นก็เพราะมีโรคที่มักจะแอบแฝงมากับหน้าร้อน
และอุณภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้ร่างกายต้องปรับสมดุลให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ นั่นหมายถึงร่างกายต้องทำงานหนักมากขึ้น
อวัยวะบางส่วนก็อ่อนแรงลงตามสภาพอุณหภูมิ

1. ไม่ควรกินน้ำแข็งหรือดื่มน้ำเย็นจัด หลายคนคงมีพฤติกรรมไม่ต่างกันคือ เมื่อมีความรู้สึกร้อนมาก ๆ อยากดื่มน้ำหรือกินอาหารเย็น ๆ
เพื่อเพิ่มความสดชื่น แต่รู้หรือไม่ว่า การดื่มน้ำที่เย็นจัด หรือผลไม้ที่แช่แข็ง เหล่านี้จะมีผลกระทบต่อระบบการย่อยอาหารน้ำเย็นปริมาณมาก
จะไปเจือจางน้ำย่อย และมีผลให้เลือดที่มาหล่อเลี้ยงกระเพาะอาหารเพื่อทำการย่อยลดน้อยลง ทำให้สมรรถภาพการย่อยอาหารลดลง
ก่อให้เกิดโรคกระเพาะลำไส้อักเสบได้ง่ายคนที่เป็นโรคกระเพาะและเป็นแผลอักเสบอยู่แล้วก็จะกำเริบได้ง่ายด้วย
2. ไม่ควรนอนให้ลมหรือความเย็นโกรก ความร้อนจากลมแดดทำให้เสียเหงื่อ เสียพลัง เมื่อนอนหลับตากลมในขณะเหงื่อออก
จะทำให้อุณหภูมิผิวของร่างกายลดต่ำลง ถ้าอุณหภูมิภายนอกยังสูงอยู่ แล้วเหงื่อไม่สามารถระบายออกได้ จะมีความร้อนสะสมอยู่ข้างใน
ทำให้เวียนหัว รู้สึกหนักหัว ไม่สดชื่นแจ่มใส หรืออาจทำให้เป็นหวัดได้ การใช้พัดลม หรือเครื่องปรับอากาศไม่ควรให้กระทบ
โดยตรงกับร่างกายนาน ๆ คนที่อยู่ในห้องปรับอากาศ เวลาออกจากห้องต้องระวังการปรับตัวกับอากาศที่ร้อนภายนอก
เพราะการเปลี่ยนแปลงของอากาศที่รวดเร็วจะทำให้ไม่สบายได้ง่าย
3. ทานอาหารมื้อเช้าด้วยอาหารอ่อนๆ ตอนตื่นนอน ท้องจะว่างเนื่องจากกระเพาะอาหารพร่อง ควรเริ่มต้นมื้อเช้าด้วยอาหารอ่อน ๆ
เพราะในหน้าร้อนร่างกายได้รับการกระตุ้นจากความร้อนทั้งกลางคืนและกลางวัน ทำให้สูญเสียน้ำ การทำงานของระบบย่อย
และดูดซึมอาหารลดลง จึงยิ่งต้องถนอมการทำงานของกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นด่านสำคัญที่จะย่อยสารอาหารเพื่อนำไปใช้ประโยชน์
แก่ร่างกาย อาหารเช้าที่แนะนำ ควรเป็น ข้าวต้ม ผสมถั่วเขียว, เมล็ดบัว หรือรากบัว ซึ่งเป็นอาหารที่ย่อยง่ายและช่วยขับความร้อน
เสริมระบบการทำงานของกระเพาะอาหารและม้าม
4. ควรกินผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็น ขับร้อน เพิ่มน้ำในร่างกาย ผลไม้ที่มีคุณสมบัติเย็น เช่น แตงกวา, แตงโม, แตงไทย,
มังคุด, สับปะรด, สาลี่ เป็นต้น เหมาะสำหรับ กินแก้กระหายและขับร้อนในร่างกาย แต่ไม่ควรแช่เย็นจัด หรือกินในตอนกลางคืน
หรือขณะที่ท้องว่างหรือเวลาหิวจัด

สิ่งสำคัญในการกินอาหารเพื่อให้ห่างไกลโรค ควรกินอาหารที่ทำสุกใหม่ ๆ กินร้อน ช้อนใครช้อนมัน เพื่อสุขอนามัยที่ดีของทุกคนในครอบครัว