
“อาหารอ่อน” จำเป็นสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพผู้ป่วย ผู้สูงอายุ เด็ก ทั้งผู้ที่อาจไม่สามารถเคี้ยว และกลืนอาหารได้ตามปกติ หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ซึ่งการรับประทานอาหารอ่อน จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหาร และช่วยให้ระบบย่อยอาหารได้พักจากการทำงานหนักชั่วคราว วันนี้ อยากชวนมาทำ เมนูอาหารอ่อน สูตรอาหารอ่อน ที่ทำเองได้ อร่อยไม่เบื่อ ไม่จำเจ พร้อมแล้วไป
อาหารอ่อน คือ อาหารที่ผ่านการสับ บด หั่น ปั่น หรือปรุงให้มีลักษณะอ่อนนิ่ม เพื่อให้เคี้ยว หรือกลืนได้ง่าย และดีต่อระบบย่อยอาหาร ซึ่งอาจช่วยลดอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย รวมถึงลดการเกิดแก๊สในกระเพาะ และลำไส้ ที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง และไม่สบายตัว อย่างไรก็ตาม อาหารอ่อนอาจไม่สามารถให้คุณค่าทางโภชนาการที่จำเป็นในระยะยาวได้ จึงเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

อาหารอ่อนเหมาะสำหรับใคร?
- อาหารอ่อนนั้น จำเป็นสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ที่ไม่สามารถเคี้ยว หรือกลืนอาหารได้ตามปกติ รวมถึงบุคคลในกลุ่มต่อไปนี้
- ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร และลำไส้อักเสบ
- ผู้ป่วยโรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ
- ผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ เป็นแผลเรื้อรัง ที่มีอาการกำเริบ
- ผู้ที่เข้ารับการถอนฟัน ผ่าฟัน หรือผ่าตัดภายในช่องปาก กระดูกกราม และขากรรไกร
- ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร
- ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดลำคอ รวมถึงผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียง และมะเร็งไทรอยด์
- ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดกะโหลกศีรษะ หรือสมอง

1. เมนู ไข่ตุ๋นทรงเครื่อง
เมนูไข่นุ่มเนียนเครื่องแน่น ขึ้นชื่อว่าเมนูไข่ รู้เลยว่าทำไม่ยากแน่นอน เมนูโปรดตลอดกาล เด็กกินได้ผู้ใหญ่กินดี
วัตถุดิบ
- ไข่ไก่ 4 ฟอง
- ต้นหอมซอย 1 ช้อนโต๊ะ
- ซีอิ๊วขาว 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมันหอย 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา
- พริกไทย ⅛ ช้อนชา
- น้ำมันพืช 1 ช้อนโต๊ะ
- แครอทหั่นเต๋า 1 ช้อนโต๊ะ
- กุ้งสับ 3 ตัว
- น้ำเปล่า 150 มิลลิลิตร
- เห็ดหอมสด 2 หัว
- กุ้งขาว 4 ตัว
- แครอทหั่นชิ้น (สำหรับตกแต่ง)
วิธีทำ
-ตอกไข่ไก่ใส่ชาม ตามด้วยซีอิ๊วขาว น้ำมันหอย น้ำตาลทราย พริกไทย น้ำเปล่า และน้ำมัน ผสมให้ส่วนผสมเข้ากัน จากนั้น ใส่แครอทหั่นเต๋า กุ้งสับ ผสมให้เข้ากันอีกครั้ง
-เทส่วนผสมลงในถ้วยสำหรับนึ่ง ประมาณเกือบเต็มถ้วย นึ่งไฟอ่อนประมาณ 25 นาที เพื่อให้เนื้อไข่ตุ๋นเนียนละเอียด
-เมื่อไข่ตุ๋นเริ่มสุก วางแครอทหั่นชิ้นลงไป ตามด้วยกุ้งขาว และเห็ดหอม จากนั้น ตุ๋นต่อไปอีกประมาณ 5 นาที หรือจนส่วนผสมสุกทั้งหมด แล้วจึงโรยต้นหอมซอย พร้อมเสิร์ฟ

2. เมนู โจ๊กหมู
เมนูอาหารเช้าเติมพลัง ย่อยง่าย อร่อยได้ทุกวันไม่มีเบื่อ
วัตถุดิบ
- ปลายข้าวหอมมะลิ 1 ¼ ถ้วยตวง
- น้ำเปล่า 1 ลิตร
- น้ำซุป 3 ถ้วยตวง
- หมูบด 300 กรัม
- เกลือ ½ ช้อนโต๊ะ
- พริกไทย 2 ช้อนโต๊ะ
- ผงฟู 1 ช้อนชา
- แป้งมัน 1 ½ ช้อนชา
- น้ำตาลทราย 2 ช้อนชา
- น้ำเย็นจัด 3 ช้อนโต๊ะ
- เครื่องเคียง เช่น ไข่ออนเซ็น, เส้นหมี่ขาว, ต้นหอมซอย, ขิงซอย และพริกไทยป่น สำหรับโรยหน้า
วิธีทำ
-นำเนื้อหมูปั่นกับน้ำตาล เกลือ พริกไทย ผงฟู น้ำเย็น และแป้งมัน แช่เย็นหมักทิ้งไว้ 20 นาที
-ตั้งกระทะใส่น้ำมัน เปิดไฟรอให้น้ำมันร้อน ใส่เส้นหมี่ขาวทอดให้ฟูกรอบ ตักขึ้นพักไว้
-ตั้งหม้อใส่น้ำเปล่า รอให้น้ำเดือดใส่ปลายข้าวหอมมะลิลงไป เคี่ยวด้วยไฟกลาง 15 นาที หลังจากนั้นค่อย ๆ ใส่น้ำซุป เคี่ยวด้วยไฟอ่อน 30 นาที
-ปั้นหมูเด้งใส่ลงไป ต้มให้หมูเด้งสุก ปิดไฟแล้วยกออกจากเตา
-ตักโจ๊กใส่ถ้วย ตอกไข่ลวกลงไป โรยด้วยขิง ต้นหอมซอย และพริกไทยป่น พร้อมเสิร์ฟ

3. เมนู ซุปฟักทอง
เมนูนี้อุดมไปด้วยบีตาแคโรทีน วิตามิน และแร่ธาตุ ที่สำคัญทำง่าย อร่อยได้ประโยชน์เต็ม ๆ
วัตถุดิบ
- ฟักทอง 1 ถ้วย
- เนยจืด 100 กรัม
- หอมใหญ่สับ ½ ลูก
- น้ำสต็อก 2 ถ้วย
- นมสด 1 ถ้วย
- พริกไทยดำ เล็กน้อย
- เกลือ เล็กน้อย
- ขนมปัง สำหรับจัดเสิร์ฟ
วิธีทำ
-นำฟักทองมาหั่นให้เป็นชิ้นเล็ก ก่อนนำไปผัด
-ตั้งหม้อบนเตาแก๊สโดยใช้ไฟปานกลาง เมื่อกระทะเริ่มร้อนใส่เนยลงไปผัด ตามด้วยหอมใหญ่สับลงไปผัดให้สุก ต่อด้วยการใส่ฟักทองลงไป และเติมน้ำสต็อก เพื่อเคี่ยวต่อให้ฟักทองสุก เมื่อฟักทองสุกแล้วยกลงจากเตา
-นำซุปฟักทองที่ได้ลงไปปั่นให้ละเอียดในเครื่องปั่นให้ละเอียด
-นำซุปฟักทองที่ปั่นเสร็จแล้วมาตั้งไฟ ใส่นมสด และเกลือเล็กน้อย
-เมื่อซุปเริ่มข้นแล้วยกลงจากเตา ตักใส่ถ้วย โรยพริกไทยดำ เสิร์ฟคู่กับขนมปัง
เป็นอย่างไรกันบ้างเมนูอาหารอ่อน แต่ละสูตรน่าสนใจ และทำไม่ยากเลยใช่ไหม? รสชาติถูกใจลูกค้าอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ผู้ที่อยู่ในช่วงรับประทานอาหารอ่อน ควรดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ และเป็นประโยชน์ต่อระบบขับถ่ายด้วย
ขอบคุณแหล่งที่มา: www.sgethai.com