
สศก. จับมือภาคี สวก. และ ม.หอการค้าไทย เดินหน้าจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษของประเทศ
ชู กลยุทธ์ 9P สู่ความสำเร็จ พร้อม Kick Off เม.ย. 64
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เปิดเผยถึงความคืบหน้าแนวทางการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ (Special Agricultural Economic Zone: SAEZ)
ที่ สศก. ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการศึกษา
ภายใต้ความร่วมมือและสนับสนุนงบประมาณของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.
และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาหลักที่จะร่วมดำเนินการศึกษาวิจัยร่วมกัน โดยจะเน้นการพัฒนา
ในเชิงพื้นที่เพื่อนำไปสู่การให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ก้าวสู่เกษตรอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 สศก. ได้มีการประชุมหารือ เพื่อพัฒนาข้อเสนอโครงการร่วมกับคณะกรรมการ
ผู้ทรงคุณวุฒิของ สวก. ซึ่งมี ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์
นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร และนางนวรถ ปะรักมะสิทธิ์ โดยได้กำหนดกรอบแนวคิดในการดำเนินงานขับเคลื่อน
เขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ หวังสร้างพื้นที่เขตเศรษฐกิจต้นแบบ ที่สามารถสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร
ซึ่งนอกจากพัฒนาสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิต หรือ Supply chain ของสินค้าเกษตรแล้ว
กระบวนการในการศึกษาในครั้งนี้ จะมองภาพ อุปสงค์ ความต้องการสินค้าเกษตร หรือ Demand ในระดับปลายน้ำ
และย้อนมาสู่การพัฒนาอุปทาน ผลผลิตสินค้าเกษตร หรือ Supply ในระดับต้นน้ำ โดยในเดือนเมษายน 2564 สศก.
จะมีการลงนามในสัญญาเพื่อศึกษาวิจัยร่วมกันกับ สวก. ซึ่งจะเป็นการ Kick off เริ่มต้นกระบวนการการศึกษาวิจัย
ร่วมกันอย่างเป็นทางการ
ด้าน ดร.สุกัลยา กาเซ็ม ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมสร้างนวัตกรรมด้านวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร
กล่าวเสริมว่า สำหรับการศึกษาวิจัยดังกล่าว จะดึงโมเดลต้นแบบจากพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
หรือ Eastern Economic Corridor : EEC ในการศึกษาและจัดทำโมเดลต้นแบบการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ
การเกษตรพิเศษในพื้นที่และสินค้าที่สำคัญ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน การบริหารจัดการแรงงาน
และการให้บริการจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จหรือ One Stop Service ตลอดจนด้านเศรษฐศาสตร์ ด้วยเป้าหมายสินค้าเกษตรเศรษฐกิจ
อาทิ ข้าว ยางพารา และ มันสำปะหลัง ด้วยกลยุทธ์แนวคิดองค์ประกอบหลัก “9 P” ได้แก่
Problem การสังเคราะห์ปัญหาเพื่อตอบโจทย์ Place พื้นที่ที่เหมาะสมในการกำหนดโมเดลต้นแบบ Product
สินค้าเกษตรที่จะขับเคลื่อนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ Premium Value การสร้างมูลค่าและสร้างรายได้เป็นพิเศษ
Proximity Value ปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบให้เกิดการรวมกันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น ทรัพยากรต่าง ๆ
Privilege สิทธิพิเศษที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้รับ Preemptive Right สิทธิของคนที่อยู่เดิมในพื้นที่ต้นแบบจะได้รับ
Public-Private-People Partnership การสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน และ Policy นโยบาย มาตรการ
และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อตอบโจทย์ประเด็นต่าง ๆ ให้สามารถขับเคลื่อนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ
ได้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ การกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ จะต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ คือ จัดพื้นที่ที่เหมาะสม
จัดสินค้าให้เหมาะสมกับพื้นที่ และเกษตรกรหรือคนเป็นผู้ผลิตสินค้าต้องสามารถทำได้จริง
โดยปัจจุบันมีการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ 2 แบบ คือ เขตเกษตรเศรษฐกิจรายสินค้า (Commodities Approach)
ตามเป้าหมายของการผลิต ซึ่งพิจารณาจากพื้นที่ที่มีศักยภาพ แบบรายอำเภอ และตำบลตามพื้นที่ปลูกจริง
จากข้อมูลดาวเทียม และการสำรวจภาคสนาม และการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจตามศักยภาพการผลิตของพื้นที่
(Area Approach) ในขั้นตอนนี้เป็นการนำเขตเกษตรเศรษฐกิจเป็นรายสินค้ามาซ้อนทับกัน จะทำให้ทราบถึงศักยภาพ
ของพื้นที่ ว่ามีความเหมาะสมในการผลิตสินค้าชนิดใดได้บ้าง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับเกษตรกรเลือกว่าควรจะผลิตพืชชนิดใด
ที่มีความเหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ตัวเอง ตรงตามความต้องการของตลาด ดังนั้น หลักการสำคัญของการบริหารจัดการ
พื้นที่เกษตรกรรมให้ประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยความพร้อมของปัจจัยหลัก 3 ด้านในการขับเคลื่อน ได้แก่
1) การบริหารจัดการพื้นที่และทรัพยากรที่เหมาะสม
2) ผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาด และ
3) มีบุคลากรด้านการเกษตร ทั้งเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ ที่จะทำหน้าที่บริหารจัดการการผลิตทางการเกษตร
ทั้งระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง