รู้จักมะเร็งต่อมไทรอยด์ ภัยเงียบใกล้ตัว ที่ไม่ควรมองข้าม

thyroid cancer

รู้จักมะเร็งต่อมไทรอยด์ ภัยเงียบใกล้ตัว ที่ไม่ควรมองข้าม

เป็นข่าวช็อกสำหรับแฟนๆ บันเทิงเกาหลีพอสมควร หลังจากที่ทางต้นสังกัดของนักแสดงสาว พัคโซดัม ที่โด่งดังจากบท เจสสิกา ในภาพยนตร์เรื่อง Parasite ประกาศว่าเธอป่วยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ ชนิดพาพิลลารี่ (Papillary Thyroid Cancer) ซึ่งเธอได้เข้ารับการผ่าตัดตามคำแนะนำของแพทย์แล้ว ตอนนี้อยู่ในช่วงของการรักษาตัวและพักฟื้นร่างกาย

เมื่อเอ่ยถึง มะเร็งต่อมไทรอยด์ หลายคนอาจไม่คุ้นหูสักเท่าไร เพราะส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับมะเร็งในส่วนอื่นๆ เช่น ผิวหนัง ทรวงอก ปอด สมอง มดลูก มากกว่า ไทยรัฐออนไลน์จึงนำข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์มาฝาก เพื่อไว้เช็กอาการตนเองเบื้องต้น และป้องกันตนเองในอนาคต

ต่อมไทรอยด์คืออะไร

ก่อนจะไปทำความรู้จักมะเร็งต่อมไทรอยด์ ขอพูดถึงต่อมไทรอยด์ให้เข้าใจเสียก่อน ซึ่งเป็นอวัยวะในร่างกายบริเวณคอ หน้าหลอดลมใต้ท่อกระดูกไทรอยด์ (ลูกกระเดือกในผู้ชาย) ต่อมนี้มีสองข้าง ทั้งซ้าย ขวา และมีแนวเชื่อมกันตรงกลางคล้ายปีกผีเสื้อ ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพื่อควบคุมระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย โดยที่ไทรอยด์ฮอร์โมนจะถูกสร้างจากต่อมไทรอยด์ และส่งเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และใช้ในกระบวนการเมตาบอลิซึมที่อวัยวะต่างๆ

มะเร็งต่อมไทรอยด์เป็นอย่างไร

มะเร็งต่อมไทรอยด์เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในต่อมไทรอยด์กลายเป็นเนื้อร้าย สามารถเกิดได้กับต่อมไทรอยด์ทั้งข้างซ้ายและข้างขวา รวมทั้งในเนื้อเยื่อที่เชื่อมต่อมทั้งสองข้างด้วย อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งชนิดนี้ก็มักรักษาให้หายขาด ไม่มีอาการเจ็บปวด และการวินิจฉัยก็ทำได้ง่าย หากพบเร็วก็สามารถรักษาให้หายขาดได้เกือบ 100%รู้จักมะเร็งต่อมไทรอยด์ ภัยเงียบใกล้ตัว ที่ไม่ควรมองข้าม

ทั้งนี้ มะเร็งไทรอยด์ เป็นโรคที่พบได้น้อย แต่พบได้ในคนทุกวัย ตั้งแต่อายุ 10-80 ปี ส่วนใหญ่พบในคนอายุ 20-70 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้ที่เคยได้รับการฉายรังสีบริเวณลำคอในวัยเด็ก หรือมีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์มากขึ้น โดยมะเร็งต่อมไทรอยด์มีทั้งหมด 5 ชนิด คือ

มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดพาพิลลารี่ (Papillary Thyroid Cancer) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยและมีความรุนแรงน้อยที่สุด เกิดขึ้นที่เซลล์ต่อมไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลาร์ (Follicular Cell) ซึ่งเซลล์มะเร็งจะมีลักษณะคล้ายเซลล์ปกติ เจริญเติบโตช้า เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่มักเกิดขึ้นกับหญิงวัยเจริญพันธุ์ หรือผู้ที่มีอายุ 30-50 ปี

มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลาร์ (Follicular Thyroid Cancer)

เป็นชนิดที่พบได้บ่อยรองจากชนิดพาพิลลารี่ โดยเกิดขึ้นที่เซลล์ต่อมไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลาร์เช่นเดียวกัน และมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป

  • มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดเมดัลลารี (Medullary Thyroid Cancer) ถือว่าเป็นโรคทางพันธุกรรม ซึ่งเกิดขึ้นที่เซลล์ต่อมไทรอยด์ชนิดซีเซลล์ (C Cell) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนแคลซิโทนิน (Calcitonin) และเมื่อตรวจพบระดับฮอร์โมนแคลซิโทนินในเลือดสูงขึ้น ก็อาจบ่งชี้ถึงมะเร็งไทรอยด์ชนิดนี้ในระยะแรกเริ่มได้
  • มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดอะนาพลาสติก (Anaplastic Thyroid Cancer) เป็นชนิดที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยเซลล์มะเร็งชนิดนี้จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว รักษาได้ยาก และมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Lymphoma) เป็นอีกหนึ่งชนิดที่พบได้ยาก และมักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ โดยเกิดความผิดปกติขึ้นที่เซลล์ภูมิคุ้มกันในต่อมไทรอยด์ และเซลล์เนื้อร้ายมักเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

อาการที่เป็นสัญญาณเตือน

ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการใดๆ ออกมา ผู้ป่วยอาจคลำพบก้อนนูนใต้ผิวหนังบริเวณกึ่งกลางลำคอ ก้อนเคลื่อนขึ้นลงตามการกลืน ในรายที่มีอาการก็จะแตกต่างกันไปตามอวัยวะที่มีการแพร่กระจาย เช่น

  • เสียงแหบ
  • หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียงหวีด
  • กลืนลำบาก หรือรู้สึกเจ็บขณะกลืน
  • เจ็บบริเวณลำคอ และปวดลามไปที่หูในบางครั้ง
  • ต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอบวมหากสำรวจพบว่ามีอาการตามที่กล่าวไปข้างต้น หรือสงสัยในอาการป่วยของตนเอง ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุของโรค และรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

แนวทางการรักษา

เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์แล้ว การรักษาที่เหมาะสมที่สุดในปัจจุบัน คือ การผ่าตัด ซึ่งอาจจะรวมไปถึงการผ่าตัดทั้งที่ต่อมไทรอยด์ และการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่คอ (เฉพาะผู้ป่วยบางรายที่มีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่คอแล้ว)

สำหรับแนวทางการผ่าตัด อาจทำได้โดยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด หรือการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกเพียงข้างใดข้างหนึ่งก็ได้ แพทย์จะเป็นผู้เลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมที่สุด ที่อาจจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย

นอกจากการผ่าตัดแล้ว ยังมีวิธีรักษาด้วยการให้ผู้ป่วยกินแร่รังสีไอโอดีน (Radioiodine Therapy) เพื่อช่วยทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่จากการที่ไม่สามารถผ่าตัดออกได้หมด ทั้งที่บริเวณลำคอและเนื้อเยื่อใกล้เคียง รวมทั้งยังช่วยทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ทั่วร่างกาย เช่น ต่อมน้ำเหลือง ปอด กระดูก เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรคได้ด้วย

ภายหลังการผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ทั้ง 2 ข้างออกไปแล้ว ร่างกายจะไม่สามารถสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้อีก เมื่อครบการรักษาแล้ว แพทย์จะให้ผู้ป่วยกินยาฮอร์โมนไทรอยด์อย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต เพื่อชดเชยไทรอยด์ฮอร์โมนให้กับร่างกาย และช่วยยับยั้งการเกิดโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดที่เซลล์มะเร็งจับกินแร่รังสีไอโอดีนไม่ให้ย้อนกลับมาเป็นซ้ำได้ด้วย เพราะยาฮอร์โมนไทรอยด์จะสามารถชะลอ หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดนี้ได้

การป้องกันมะเร็งต่อมไทรอยด์
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็มีวิธีที่ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคนี้ได้ คือ

รับประทานอาหารที่มีไอโอดีน เช่น อาหารทะเล เกลือแกง น้ำปลา อาหารหรือขนมขบเคี้ยวรสเค็มในปริมาณที่เหมาะสม ไม่รับประทานน้อย หรือมากจนเกินไป
ถ้าพบคอพอก (คอโต) ที่มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง เสียงแหบ หรือมีต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอโตร่วมด้วย ควรสงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งไทรอยด์ และควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
แม้ว่ามะเร็งต่อมไทรอยด์จะฟังดูน่ากลัว แต่ข่าวดีคือการรักษามะเร็งชนิดนี้ในปัจจุบันให้ผลดีมาก และมีโอกาสในการหายขาดสูง โดยเฉพาะถ้าเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดพาพิลลารี่และฟอลลิคูลาร์ ที่ผลการรักษาตอบสนองดีกับการผ่าตัดและใช้รังสีไอโอดีน โดยที่ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตมากกว่า 95% หลังจากผ่านไปแล้ว 10 ปี.

อ้างอิง
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล / โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath.co.th


ติดตามข่าวสาร ได้ที่  : thaigoodherbal.com

สุขภาพ

กิน “คาร์โบไฮเดรต” อย่างไรไม่ให้อ้วน

กิน “คาร์โบไฮเดรต” อย่างไรไม่ให้อ้วน คิดว่าหลายคนจะมีคว […]

Read More
สุขภาพ

4 สิ่งที่ควรทำในวันที่รู้สึกว่าตัวเอง “ไร้ค่า”

4 สิ่งที่ควรทำในวันที่รู้สึกว่าตัวเอง “ไร้ค่า&#82 […]

Read More
สุขภาพ

5 เคล็ดลับลด “ไขมันหน้าท้อง” อย่างไรให้ได้ผล

5 เคล็ดลับลด “ไขมันหน้าท้อง” อย่างไรให้ได้ผล เอวคอดๆ ไม […]

Read More