
นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี (สศท.11)
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จังหวัดอุบลราชธานีนับเป็นแหล่งผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์
ที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี (ณ 31 มีนาคม 2564)
พบว่า มีพื้นที่ปลูก 14,048 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยว 13,978 ไร่ ผลผลิตรวม 48,224 ตัน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดย กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร ผสานความร่วมมือกับภาคเอกชนให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้
ปัจจัยการผลิต การใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมการผลิต รวมถึงการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์
นอกจากนี้ มีเกษตรกรบางพื้นที่ได้เข้าร่วมโครงการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ ของบริษัทที่เข้ามาส่งเสริมภายใต้การทำ
Contract Farming เนื่องจากเกษตรกรมีแรงจูงใจในเรื่องราคาที่ให้ผลตอบแทนดีกว่ามันสำปะหลังทั่วไป
และมีตลาดรองรับที่แน่นอน
จากการติดตามสถานการณ์การผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี พบว่า
ปัจจุบันเกษตรกรหันมาปลูกมันสำปะหลังอินทร์กันมากขึ้น โดยบริษัทอุบลไบโอเอทานอล จำกัด (มหาชน)
ได้ทำ Contract Farming กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร และอำนาจเจริญ ใน
“โครงการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์” ตั้งแต่ปี 2559 โดยรับซื้อผลผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์จากเกษตรกรทั้งหมด
ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 939 ราย พื้นที่ปลูก 5,656 ไร่ ดำเนินการมาแล้วทั้งหมด 5 รุ่น
ซึ่งผลผลิตของเกษตรกรทั้ง 5 รุ่น ได้ออกสู่ตลาดช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาประมาณ 21,000 ตัน สำหรับปี 2564
กำลังอยู่ในช่วงรับสมัครรุ่นที่ 6 และกำหนดการฝึกอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานี กรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมมือกับบริษัทฯ
ในการลงพื้นที่ ให้ความรู้กับเกษตรกรในเรื่องการผลิต การดูแล การป้องกันโรคแมลง การปรับปรุงบำรุงดิน
และการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมการผลิต รวมถึงการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์
สำหรับราคามันสำปะหลังอินทรีย์เชื้อแป้ง 25% ที่บริษัทฯ ประกันราคาอยู่ที่ 3.25 บาท/กก. ซึ่ง สศก.
โดย สศท.11 อุบลราชธานี ได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาต้นทุน ผลตอบแทน และการตลาดของสินค้ามันสำปะหลังอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง
พบว่า ต้นทุนการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเฉลี่ยอยู่ที่ 7,039 บาท/ไร่/รอบการผลิต
เนื่องจากต้องจ้างแรงงานคนในการกำจัดวัชพืชจึงทำให้มีค่าแรงสูง ต้นทุนการผลิตจึงสูงกว่ามันสำปะหลังทั่วไป
เกษตรกรนิยมปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ระยะเวลาเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 8 – 10 เดือน
เก็บเกี่ยวช่วงเดือนมีนาคมของปีถัดไป ผลผลิตเฉลี่ย 3,800 กก./ไร่ ผลตอบแทน 12,350 บาท/ไร่/รอบการผลิต
ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 5,311 บาท/ไร่/รอบการผลิต ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวผลผลิตและเกษตรบางส่วน
เริ่มเตรียมดินสำหรับทำการเพาะปลูกรอบถัดไป
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้สร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ โดยเน้นย้ำว่าปัจจุบันได้มีการ
แปรรูปมันสำปะหลังอินทรีย์เป็นแป้งออร์แกนิค ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เนื่องจากแป้งออร์แกนิคสามารถแปรรูปเป็นอาหารแห่งอนาคต (Future Food) และอาหารเพื่อสุขภาพได้หลากหลาย
สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในการเป็นส่วนผสมอาหารพรีเมี่ยม จึงนับว่าเป็นโอกาสดีของเกษตรกร ทั้งนี้ เกษตรกร
ที่เข้าร่วมโครงการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ ได้ผ่านมาตรฐานอินทรีย์ไทย และมาตรฐานอินทรีย์สากล ได้แก่
1) มาตรฐาน มกษ 9000-2552 หรือ Organic Thailand
2) มาตรฐานอินทรีย์ USDA-NOP (สหรัฐอเมริกา)
3) มาตรฐานอินทรีย์ EU (ยุโรป)
4) มาตรฐานอินทรีย์ JAS (ญี่ปุ่น)
5) มาตรฐานอินทรีย์ Korean (เกาหลี)
6) มาตรฐานอินทรีย์ China (จีน)
จึงเป็นเครื่องการันตีและสร้างความมั่นใจกับผู้ค้าได้ว่า ผลผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ของเกษตรกรได้มาตรฐานและมีคุณภาพสูง
ผู้อำนวยการ สศท.11 กล่าวเพิ่มเติมว่า การปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ให้ได้คุณภาพนั้น
เกษตรกรต้องใช้ความอดทน พิถีพิถันในทุกขั้นตอน และต้องจำกัดพื้นที่ปลูกเพื่อควบคุมมาตรฐาน
รวมทั้งต้องมีการวางแผนล่วงหน้าช่วงเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้เปอร์เซ็นต์แป้งตามต้องการ
ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการปรับเปลี่ยน 2 – 3 ปี จึงจะได้ผลผลิตที่เป็นอินทรีย์ผ่านมาตรฐาน
ทั้งนี้ หากเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจข้อมูลการผลิตและการตลาดมันสำปะหลังอินทรีย์ หรือสนใจเข้าร่วมโครงการฯ
สามารถขอคำปรึกษาได้ที่คุณกัณฑ์พร กรรณสูต ตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายประสานงานภาครัฐ
บริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด (มหาชน) โทร 08 9962 6544