
ปัญญาแห่งชราชน
หัวข้อเรื่อง “ปัญญาแห่งชราชน” ที่ ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน เขียนไว้ในหนังสือ ศาสตร์ปริศนา (สำนักพิมพ์สารคดี พ.ศ.2551) รวมทั้งคำบรรยายภาพ ความเก๋าทางปัญญาของคนชรา เป็นสิ่งที่หนุ่มสาวควรสนใจ…นี่คือกระจกบานใหญ่…ที่คนชรารุ่นผมจำเป็นต้องส่อง
ผลที่นักวิทยาศาสตร์สนใจศึกษา เมื่อ พ.ศ.2543-2544 พบว่าทักษะและความชำนาญหลายด้านของคนชราจะดีขึ้นเมื่อวัยเพิ่มขึ้น และความสามารถหลายด้านที่สังคมเคยเชื่อว่าร้าย กลับมิได้บกพร่องรุนแรงอย่างที่คิด
ตัวอย่างความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ งานวิจัยได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เด็กสามารถเรียนรู้อะไรที่แปลกใหม่ได้รวดเร็วกว่าคนสูงวัย แต่คนชรามีสติปัญญาสูงกว่าเด็กในด้านการสังคม
เช่น สามารถประเมินบุคลิกคนแปลกหน้าได้อย่างแม่นยำ และถูกต้องกว่าเด็ก และคนมีอายุมีความสามารถสื่อสารได้สูงกว่าคนไม่ค่อยมีอายุ
แม้ในอดีตเราเคยเชื่อกันว่า เซลล์สมองที่พ่อแม่ให้มาตั้งแต่เกิด หลังจากที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ก็มีแต่จะตายกับตาย ร่างกายไม่สามารถจะสร้างเซลล์สมองขึ้นมาใหม่ได้ ดังนั้นความสามารถสมองจึงมีแต่ลดกับลด
แต่งานวิจัยที่ได้ลงพิมพ์เมื่อต้นปี 2546 กลับแสดงให้เห็นว่าสมองสามารถสร้างเซลล์สมองขึ้นใหม่ ดังนั้นความรวดเร็วในการเสื่อมถอยของสมองคนมีวัยจึงไม่เร็วอย่างที่คิด
นักวิจัยผู้หนึ่งพบ โดยทั่วไปคนชรามีสุขภาพจิตดีกว่าเด็กวัยรุ่น เพราะรู้จักวิธีผูกมิตร และมีมนุษยสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ดีกว่าเด็ก และไม่มีความรู้สึกทุกข์จากการมีอารมณ์ร้ายมากเหมือนเด็ก
หากมีการจัดเวลาฝึกทดสอบและวิธีที่เหมาะสม คนชราก็สามารถเรียนรู้อะไรต่อมิอะไรได้เร็วขึ้น
โดยปกติคนชรา 3 ใน 4 ตื่นเช้า ดังนั้นเวลาเช้าจะเป็นเวลาที่ชราชนมีความสามารถทางสมองสูงสุด ในขณะที่เวลาบ่ายเป็นเวลาที่สมองของนักเรียนนักศึกษาเปรื่องปราดที่สุด
ยังมีข้อวิจัยที่ว่า เวลานำคนชรามาทดสอบความสามารถทางสมองอย่างฉับพลันทันทีโดยมิได้บอกล่วงหน้า คนชราจะรู้สึกเครียด และทำแบบทดสอบได้ไม่ดี
แต่หากบอกล่วงหน้าให้เตรียมตัวนานๆ ผลการทดสอบจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ในการทดสอบความทรงจำ หากบททดสอบมีเนื้อหาในเชิงสร้างสรรค์ คนชราจะสามารถตอบคำถามได้ดี แต่ถ้าใช้เนื้อหาเชิงทำลาย ตัวเลขผลสัมฤทธิ์ด้านความทรงจำ จะต่ำกว่ากรณีบวก 20-30 เปอร์เซ็นต์
ยิ่งถ้าเรื่องนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับท่านผู้สูงวัย ท่านก็จะจำได้ดี แต่ถ้าเรื่องนั้นไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตท่านเลย ท่านก็มักจะลืม
ความเฉลียวฉลาดด้านการดำเนินชีวิตในสังคม เป็นความสามารถที่โดดเด่นที่สุด
คนชราหลายคนมีสุขภาพจิตที่มั่นคง เพราะรู้ตระหนักชัดในขีดจำกัดและข้อจำกัดของชีวิตดีกว่าคนหนุ่มสาว ที่มักจะมีความหวังจากสังคมและจากตนเองที่สูงเกินจริง
ปัญหาของการวิจัยขั้นต่อไป เราจะชะลอสมองให้เสื่อมช้าลงได้อย่างไร นักวิจัยบางคนคิดว่า การใช้ชีวิตที่แวดล้อมด้วยเพื่อนฝูงและสังคม เป็นวิธีหนึ่ง ที่สามารถช่วยให้คนเป็นโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ช้าลง
บางคนเสนอให้คนชราออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อจะทำให้เรียนรู้อะไรๆได้ดีขึ้นและเร็วขึ้น
ในอนาคตเราอาจเห็นคลินิกเสริมพลังสมองคนชรา เพื่อให้พวกเขามีความคิดและความทรงจำที่ดีนานๆ
ผมตั้งใจอ่านเรื่องของ ศ.ดร.สุทัศน์ ส่องกระจกดูหน้าตัวเองเต็มที่ แต่กลับเห็นเป็นหน้า พลเอกประวิตร นับแต่วันที่ท่านบอกใช้ “ใจบันดาลแรง” คนไทยก็ได้เห็นความกระฉับกระเฉง ความมีชีวิตชีวาของคนวัย 77 ปี
สิ้นเดือนนี้หากพลเอกประยุทธ์ ผู้น้องไปต่อไม่ได้…เราจะเห็นผู้พี่ รับไม้ต่อ โดยไม่มีเรื่องของอายุเป็นปัญหา…คงเป็นเช่นที่งานวิจัยว่า ชราชนสร้างเซลล์สมองใหม่ๆ ปรับบทจากผู้ตาม เป็นผู้นำได้ แบบที่ใครหรือจะกล้าหือ! หรือ? ใครจะกล้าว่า.
ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath.co.th
ติดตามข่าวสาร ได้ที่ : thaigoodherbal.com