
ติด “โควิด-19” เสี่ยงภาวะ “หลอดเลือดอุดตัน” แนะปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
เชื้อไวรัส “โควิด-19” เพิ่มความเสี่ยงผู้ป่วย “หลอดเลือดอุดตัน”
ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยง “หลอดเลือดอุดตัน” แบ่งออกเป็น 4 สาเหตุหลัก
แนะ 3 วิธีลดความเสี่ยง ในการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ดีที่สุด
แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส “โควิด-19” ในปัจจุบัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเริ่มลดลง จน “กระทรวงสาธารณสุข” เตรียมแผนประกาศปรับให้โควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคระบาดเฝ้าระวัง ในวันที่ 1 ต.ค. 2565 โดยเตรียมความพร้อมให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาที่ง่ายขึ้น หากประชาชนที่ป่วยเป็นโควิด เมื่อไปพบแพทย์และได้รับใบสั่งยาจากแพทย์แล้วสามารถไปซื้อยาต้านไวรัสที่ร้านขายยาได้ โดยผู้ป่วยทุกรายไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัส ให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
แต่ความรุนแรงของเจ้าเชื้อโควิด ไม่ได้แสดงออกมาแค่ตอนที่ผู้ป่วยติดเชื้อเท่านั้น แต่ยังส่งผลระยะยาวต่อร่างกายของผู้ป่วยบางราย จนต้องเผชิญกับภาวะ “ลองโควิด” (Long Covid) โดยแต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่มักมีอาการ เหนื่อยง่าย, หอบ, ไอ และอ่อนเพลีย ต่อเนื่องไปอีก 3-4 เดือน แต่บางรายอาจมีอาการหนักไปกว่านั้น และอาการไม่สบายอื่นๆ ที่หลงเหลืออยู่หลังหายจากการติดเชื้อโควิด รวมทั้งการเกิด “ลิ่มเลือด” ที่จะไปชะลอการไหลเวียนของโลหิตในหลอดเลือด และนำมาสู่ภาวะ “หลอดเลือดอุดตัน” ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงได้
ศ.นพ.พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า หลอดเลือดอุดตัน หรือ Thrombosis เป็นภาวะที่ลิ่มเลือดก่อตัวและไปอุดตันในหลอดเลือด จากการแข็งตัวของเลือดผิดปกติหรือผนังหลอดเลือดผิดปกติ สามารถเกิดได้ทั้งในหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ ซึ่งหากลิ่มเลือดที่อุดตันหลุดไปตามกระแสเลือด จะเป็นอันตรายต่อร่างกายและโรคอื่นๆ ตามมา
ติด “โควิด-19” เสี่ยงภาวะ “หลอดเลือดอุดตัน”
สำหรับสถานการณ์ ภาวะหลอดเลือดอุดตัน ในประเทศไทย จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับหลอดเลือดอุดตันในปอดพบว่า ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้ป่วยประมาณปีละ 12,900-26,800 คน คิดเป็นอัตราผู้ป่วย 200-400 คนในประชากรหนึ่งล้านคน โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงต่อ “หลอดเลือดอุดตัน” สามารถแบ่งออกเป็น 4 สาเหตุหลัก ได้ดังนี้
ปัจจัยการเกิดลิ่มเลือด จากการรักษาตัวในโรงพยาบาล
ผู้ป่วยหลอดเลือดอุดตันกว่า 60% เกิดขึ้นระหว่างการพักรักษาตัว หรือผู้ที่มีบาดเจ็บบริเวณหลอดเลือดจากการผ่าตัด ซึ่งการพักฟื้นเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ผู้ป่วยลดการขยับตัวนำไปสู่การเกิดลิ่มเลือดได้ ทั้งนี้ ในระหว่างการรักษาตัวในโรงพยาบาลแพทย์จะป้องกันและรักษาด้วยการประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วย อาจมีการให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือการใช้เครื่องช่วยให้เลือดที่ขาไหลเวียนดีขึ้น
ปัจจัยการเกิดลิ่มเลือด จากโรคมะเร็ง
สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งมีความเสี่ยงเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันร้ายแรงสูงกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า โดยความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันจะขึ้นอยู่กับประเภทของมะเร็ง ระยะของโรคและวิธีการรักษา รวมถึงการเคลื่อนไหวร่างกายของผู้ป่วย
ปัจจัยการเกิดลิ่มเลือด จากการติดเชื้อโควิด-19 (COVID-19)
พบว่าผู้ป่วยโควิด-19 ในระยะวิกฤติเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดได้สูงกว่าบุคคลปกติ เนื่องจากผู้ป่วยจะมีการแข็งตัวของเลือดเพิ่มขึ้นประกอบกับการนอนพักฟื้นเป็นระยะเวลานาน สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่พักรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) ควรขยับร่างกายสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด ทั้งนี้ วัคซีนโควิด-19 ได้รับการยืนยันแล้วว่า ไม่มีผลต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตัน
ปัจจัยการเกิดลิ่มเลือด ด้านกายภาพ
หากมีบุคคลในครอบครัวเป็นหลอดเลือดอุดตันจะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดยในเพศหญิง อายุ 20-40 ปี มีความเสี่ยงมากกว่าเพศชาย จากการใช้ยาคุมกำเนิดและการตั้งครรภ์ กลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี มีโอกาสทั้งเพศหญิงและเพศชาย และบุคคลที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมส่วนบุคคลด้วย หากพบว่ามีอาการเจ็บ มีรอยแดง ลักษณะอุ่นๆ บริเวณน่องหรือต้นขา หรือมีอาการบวมของขา ควรพบแพทย์เพื่อประเมินภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน
สำหรับการป้องกันการเกิดโรค ถือเป็นกุญแจสำคัญในการลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตัน
ได้ดีที่สุด ซึ่งคนทั่วไปสามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยมี 3 วิธีหลัก ดังนี้
เปลี่ยนพฤติกรรมลดความเสี่ยง ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการลดความเสี่ยงภาวะหลอดเลือดอุดตันทั้งการทำงานและการใช้ชีวิต ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยง อาทิ การสูบบุหรี่ การนั่งเป็นเวลานาน ทั้งการนั่งทำงาน ขับรถ หรือการโดยสารเครื่องบินโดยอยู่ท่าเดิมเป็นระยะเวลานานกว่า 4-6 ชั่วโมง
ขยับร่างกายและออกกำลังกาย การขยับบริหารกล้ามเนื้อหรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ง่ายและดีที่สุด เพราะจะกระตุ้นระบบหมุนเวียนโลหิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถใช้วิธีง่ายๆ และทำที่บ้านได้ อาทิ การลุกเดิน การหมุนข้อเท้า การยกเข่า การหมุนคอ บ่าและไหล่
เช็กความเสี่ยงหลอดเลือดอุดตัน หากมีอาการหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตัน เช่น มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับเลือด โรคหัวใจ หรือคนในครอบครัวเคยมีประวัติการรักษาหลอดเลือดอุดตัน สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงและวิธีการรักษาที่ถูกต้อง การรู้ล่วงหน้าจะช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับภาวะหรือโรคร้ายแรงที่จะตามมาได้ทันท่วงที
สุดท้ายนี้ “ภาวะหลอดเลือดอุดตัน” เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถป้องกันได้ หากมีความเข้าใจและตระหนักรู้เกี่ยวกับการเกิดลิ่มเลือด ส่วนผู้ป่วยภาวะหลอดเลือดอุดตัน ควรทำตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรค.
ผู้เขียน : กนก โฆษกสุขภาพ
ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath.co.th
ติดตามข่าวสาร ได้ที่ : thaigoodherbal.com