ครรภ์เป็นพิษ ภาวะอันตรายของคุณแม่ตั้งครรภ์

ครรภ์เป็นพิษ ภาวะอันตรายของคุณแม่ตั้งครรภ์

ครรภ์เป็นพิษ มักเริ่มหลังจากตั้งครรภ์ได้ 20 สัปดาห์ หากไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ทั้งแม่และลูก
อาการครรภ์เป็นพิษ ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรระวัง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง โปรตีนรั่วในปัสสาวะ ตัวบวม บริเวณใบหน้าและมือ เป็นต้น
ปัจจุบันมีวิธีการตรวจหาความเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษ ด้วยวิธีการตรวจแบบ Combine Screening Test ซึ่งสามารถทำการตรวจคัดกรองในช่วงอายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์
“การคลอด” คือการรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จะหายไปเองหลังการคลอด
ครรภ์เป็นพิษ ภาวะอันตรายของคุณแม่ตั้งครรภ์

ครรภ์เป็นพิษ คืออะไร
ครรภ์เป็นพิษ ภาษาอังกฤษ คือ Preeclampsia เป็นภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง มีโปรตีนในปัสสาวะสูง ซึ่งบ่งชี้ถึงความเสียหายของไต หรือสัญญาณความเสียหายของอวัยวะอื่นๆ ภาวะครรภ์เป็นพิษมักเริ่มหลังจากตั้งครรภ์ได้ 20 สัปดาห์ หากไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ทั้งแม่และลูก

หากพบภาวะครรภ์เป็นพิษ แพทย์มักแนะนำให้คลอด ซึ่งระยะเวลาในการคลอดนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะครรภ์เป็นพิษและระยะเวลาการตั้งครรภ์ ทั้งนี้การรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษจำเป็นต้องมีการเฝ้าสังเกตอย่างใกล้ชิด รวมถึงมีการใช้ยาเพื่อลดความดันโลหิตและจัดการกับภาวะแทรกซ้อน

ภาวะครรภ์เป็นพิษอาจเกิดขึ้นภายหลังการคลอดบุตรได้ ซึ่งเป็นภาวะที่เรียกว่า ภาวะครรภ์เป็นพิษหลังคลอด

รู้ได้อย่างไรว่ากำลังเสี่ยง ครรภ์เป็นพิษ
คุณแม่ที่เคยมีภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์เมื่อตั้งครรภ์อีกครั้ง เนื่องจากมีโอกาสที่จะเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษอีกได้

ในปัจจุบันมีวิธีการตรวจหาความเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษด้วยวิธีการตรวจแบบ Combine Screening Test ซึ่งสามารถทำการตรวจคัดกรองในช่วงอายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์ กรณีตรวจคัดกรองแล้วพบว่ามีโอกาสเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ แพทย์จะทำการวินิจฉัยและพิจารณาการรักษาต่อไป

ครรภ์เป็นพิษ ภาวะอันตรายของคุณแม่ตั้งครรภ์
ครรภ์เป็นพิษเกิดจากสาเหตุใด ปัจจัยเสี่ยงภาวะครรภ์เป็นพิษ
ภาวะครรภ์เป็นพิษอาจพบในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่สุขภาพดี โดยมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

เป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรก เมื่ออายุน้อยกว่า 20 ปี หรือมากกว่า 35 ปี
คุณแม่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน
ตั้งครรภ์ลูกแฝด หรือมากกว่า 2 คน
มีภาวะครรภ์เป็นพิษในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน
ครอบครัวเคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษ หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ
เป็นการตั้งครรภ์โดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
มีภาวะเลือดแข็งตัวง่าย
มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไต เบาหวาน โรคแพ้ภูมิตนเอง (SLE) ข้ออักเสบรูมาตอยด์

อาการครรภ์เป็นพิษ

ครรภ์เป็นพิษ ภาวะอันตรายของคุณแม่ตั้งครรภ์
สัญญาณแรกของภาวะครรภ์เป็นพิษมักถูกตรวจพบในระหว่างการเข้ารับการตรวจก่อนคลอดตามปกติ ดังนั้นการสังเกตอาการต่างๆ ช่วยให้สามารถประเมินภาวะครรภ์เป็นพิษเบื้องต้น ดังนี้

ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
ตรวจพบโปรตีนส่วนเกินในปัสสาวะ หรือสัญญาณอื่นๆ ที่เกี่ยวกับภาวะไตมีปัญหา
ระดับเกล็ดเลือดลดลง
เอนไซม์ตับสูง บ่งบอกถึงภาวะตับมีปัญหา
ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
การเปลี่ยนแปลงในการมองเห็น รวมถึงการสูญเสียการมองเห็นชั่วคราว ตาพร่ามัว หรือไวต่อแสง
หายใจถี่ เกิดจากของเหลวในปอด
ปวดท้องตอนบน มักอยู่ใต้ซี่โครงด้านขวา
คลื่นไส้ หรืออาเจียน
น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
อาการบวมน้ำ โดยเฉพาะใบหน้าและมือ
วิธีการดูแลครรภ์เป็นพิษ
หากพบสัญญาณเตือน หรือมีอาการต้องสงสัยว่าจะเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเข้ารับการตรวจอย่างละเอียด โดยเฉพาะอาการครรภ์เป็นพิษเริ่มแรก เช่น อาการปวดหัวอย่างรุนแรง ตาพร่ามัว หรือมีภาพรบกวนอื่นๆ ปวดท้องรุนแรง หรือหายใจลำบากอย่างรุนแรง

“การคลอด” คือการรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จะหายไปเองหลังการคลอด อย่างไรก็ตามแพทย์ต้องพิจารณาหลายปัจจัยเพื่อความปลอดภัยก่อนทำคลอด เช่น สุขภาพของคุณแม่ ระยะเวลาการตั้งครรภ์ รวมถึงความรุนแรงของภาวะครรภ์เป็นพิษ

หากยังไม่สามารถทำคลอดได้ทันที วิธีการดูแลครรภ์เป็นพิษสามารถทำได้ ดังนี้

กรณีภาวะครรภ์เป็นพิษไม่รุนแรง คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถกลับบ้านได้ แต่ต้องพบแพทย์ตามนัดอย่างเคร่งครัด หากพบอาการรุนแรงขึ้นสามารถพบแพทย์ทันทีโดยไม่ต้องรอ
นอนพักผ่อนให้มากๆ
ดื่มน้ำให้เพียงพอ
บางรายอาจต้องรับประทานยาลดความดันโลหิต
สำหรับภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรง อาจจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
เมื่อครรภ์เป็นพิษทำให้ต้องยุติการตั้งครรภ์

หากพบภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรง แพทย์อาจพิจารณายุติการตั้งครรภ์ ในกรณีที่แพทย์เห็นว่าการดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์จากภาวะแทรกซ้อน ดังนี้

ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด เกิดจากการที่รกลอก หรือหลุดออกจากโพรงมดลูกก่อนทารกจะคลอด ส่งผลให้มีความเสี่ยงสูงที่มารดาจะมีเลือดออกอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นภาวะอันตรายถึงชีวิตทั้งทารกในครรภ์และมารดา
กลุ่มอาการ HELLP (HELLP Syndrome) ความผิดปกติเกี่ยวกับตับ เลือดและความดันโลหิตขณะตั้งครรภ์ จัดเป็นปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากค่าตับอักเสบสูงขึ้น เม็ดเลือดแดงในหลอดเลือดแดงแตก และมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โดยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะและปวดท้องด้านขวาบน อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาการ HELLP อาจเกิดขึ้นโดยไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ
ภาวะชัก กรณีคุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการป่วยรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมจนมีภาวะชัก ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าจะเกิดการชักเมื่อใด เนื่องจากไม่พบสัญญาณเตือนล่วงหน้า และเป็นอันตรายต่อแม่และทารกในครรภ์อย่างยิ่ง

วิธีป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษ
แม้ภาวะครรภ์เป็นพิษจะไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ ดังนี้

ฝากครรภ์และพบแพทย์ตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ
ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ตามความเหมาะสมของอายุครรภ์ โดยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัย
ทำจิตใจให้สงบ ไม่เครียด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์
หลักฐานทางคลินิกที่ดีที่สุดในการป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษ คือการใช้ยาแอสไพรินขนาดต่ำ ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานแอสไพรินขนาด 150 มิลลิกรัมทุกวันก่อนอายุตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามคุณแม่ตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ โดยห้ามซื้อยา หรืออาหารเสริมมารับประทานเองโดยเด็ดขาด

ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath.co.th


ติดตามข่าวสาร ได้ที่  : thaigoodherbal.com

"ภูมิแพ้" สาเหตุ อาการ วิธีรักษา และวิธีป้องกัน
สุขภาพ

“ภูมิแพ้” สาเหตุ อาการ วิธีรักษา และวิธีป้องกัน

“ภูมิแพ้” สาเหตุ อาการ วิธีรักษา และวิธีป้อ […]

Read More
5 สุดยอดอาหารลดไขมันในเลือด ลดเสี่ยงโรคหัวใจ-เบาหวาน
สุขภาพ

5 สุดยอดอาหารลดไขมันในเลือด ลดเสี่ยงโรคหัวใจ-เบาหวาน

5 สุดยอดอาหารลดไขมันในเลือด ลดเสี่ยงโรคหัวใจ-เบาหวาน ไข […]

Read More
สุขภาพ

5 เครื่องดื่มในมื้อเช้า ตัวช่วยในการ “ลดน้ำหนัก”

5 เครื่องดื่มในมื้อเช้า ตัวช่วยในการ “ลดน้ำหนัก&# […]

Read More