
ในปัจจุบันนี้การตกแต่งบ้านยังถือเป็นเรื่องที่หลายๆ บ้านให้ความสำคัญเอามากๆ ทั้งเรื่องเฟอร์นิเจอร์ สีของบ้าน และอีกอย่างก็ถือเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ เพราะการเลือกหลอดไฟที่มีหลากหลายรูปแบบ ก็จะช่วยทำให้บ้านคุณประหยัดและได้สีไฟที่สวยงาม ก่อนจะเลือกใช้งานมาทำความรู้จักกันก่อน มาดูเรื่องน่ารู้ของหลอดไฟ ทั้งประเภท แสงสีที่เหมาะกับการใช้งาน และวิธีการเปลี่ยนหลอดไฟ รวมถึงการทิ้งหลอดไฟแต่ละประเภทให้ปลอดภัย เริ่มกันเลยค่ะ
เป็นระยะเวลากว่า 2 ศตวรรษแล้วที่โลกของเรามีหลอดไฟไว้ให้แสงสว่างกับบ้านเรือนที่พักและอาคารต่าง ๆ ผู้ผลิตหลอดไฟต่าง ๆ ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงในเรื่องของประสิทธิภาพ คุณภาพของแสง ความหนาแน่น ความปลอดภัยในการใช้งาน รวมถึงการประหยัดพลังงานด้วย วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักหลอดไฟ แหล่งให้แสงสว่างที่เราคุ้นเคยกันดีว่ามีกี่ประเภท เลือกความสว่างแบบไหนให้เหมาะกับการใช้งาน และวิธีการเปลี่ยนหลอดใหม่ รวมถึงการทิ้งหลอดไฟอย่างไรให้ปลอดภัยด้วย
ประเภทของหลอดไฟ
ปัจจุบันนี้มีหลอดไฟมากมายหลายชนิดให้เลือกสรร ไม่ว่าจะเป็นหลอดไส้ หลอดตะเกียบ หลอดฟลูออเรสเซนต์ เป็นต้น ซึ่งหลอดไฟแต่ละประเภทมีการใช้งานและคุณสมบัติแตกต่างกันไป ซึ่งอาจทำให้หลาย ๆ คนเกิดความสับสนได้ เราจึงขอแนะนำชนิดของหลอดไฟทั่วไปที่นิยมใช้กัน ดังนี้

- หลอดไส้
หลอดไส้ มีหลักการทำงานง่าย ๆ คือ ในหลอดไส้จะมีขดลวดทังสเตนอยู่ภายในหลอด เมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน ขดลวดนี้จะเกิดความร้อนจนเป็นตัวจุดประกายไฟ ทำให้เกิดแสงสว่าง และจากปริมาณการไหลของกระแสไฟฟ้าจะทำให้ไส้หลอดร้อนจนไหม้ เสื่อมสภาพเร็ว มีอายุการใช้งานสั้น (ประมาณ 700-1,000 ชั่วโมง) และสิ้นเปลืองพลังงาน แม้หลอดไส้จะเป็นหลอดไฟที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่ก็เริ่มมีผู้ผลิตหลอดไฟชนิดอื่นขึ้นมาทดแทน เพราะมีเทคโนโลยีที่ดีกว่า ใช้งานได้ยาวนาน และประหยัดไฟกว่า เช่น หลอดไฟ LED หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ และหลอดไฟ CFL
- หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์
หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า หลอดนีออน มีหลักการทำงานคือ เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านหลอด จะกระตุ้นอนุภาคปรอทและก๊าซอื่น ๆ ที่บรรจุอยู่ภายในหลอด ให้ปล่อยพลังงานที่แผ่รังสีความร้อนออกมา เมื่อรังสีนี้กระทบกับสารเรืองแสงที่ฉาบไว้ด้านในตัวหลอด จะเปลี่ยนเป็นแสงสว่างที่มองเห็นได้ และเนื่องจากไม่ได้เปล่งแสงโดยอาศัยความร้อน จึงมีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานมากกว่าและนานกว่าหลอดไส้ แต่การใช้งานจะต้องติดตั้งคู่กับชุดบัลลาสต์และสตาร์ทเตอร์ และกำจัดได้ยากกว่าเพราะมีสารปรอทที่เป็นอันตราย
- หลอดคอมแพกต์ฟลูออเรสเซนต์
หลอดคอมแพกต์ฟลูออเรสเซนต์ (Compact Fluorescent Lamps : CFL) หรือหลอดตะเกียบ ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้แทนหลอดไส้ในบ้านและอาคารพาณิชย์ มีขนาดเล็กกะทัดรัด มีอายุการใช้งานยาวนานกว่าถึง 10,000 ชั่วโมง จึงประหยัดพลังงานมากกว่า และให้ประสิทธิภาพการส่องสว่างที่สูงกว่า แต่ด้านในหลอดมีสารปรอทที่เป็นอันตราย จึงกำจัดได้ยากกว่าหลอดไส้

- หลอดฮาโลเจน
หลอดฮาโลเจน เป็นหลอดไส้ที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น เป็นหลอดไส้ที่เติมก๊าซฮาโลเจน ได้แก่ โบรมีน หรือไอโอดีน เข้าไปเล็กน้อย ทำให้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า หลอดไอโอดีนควอตซ์ หรือหลอดฮาโลเจนทังสเตน ซึ่งก๊าซฮาโลเจนจะช่วยเพิ่มความสว่าง ทำให้ประสิทธิภาพการส่องสว่างสูงขึ้น ยืดอายุการใช้งานของหลอดไฟได้ถึง 2,000 ชั่วโมง และมีขนาดเล็กกว่าเมื่อเทียบกับหลอดไส้ทั่วไป นอกจากนี้ยังให้แสงที่ถูกต้อง ไม่เพี้ยน จึงนิยมนำมาใช้กับการผลิตละครเวทีและสตูดิโอถ่ายภาพ หรืองานจัดแสดงสินค้า แต่ก็สามารถนำมาใช้ในบ้านได้ในพื้นที่บริเวณที่ต้องการแสงสว่างเป็นพิเศษ เช่น มุมอับ ห้องทำงาน เป็นต้น
- หลอดไฟ LED
หลอดไฟ LED กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะให้แสงสว่างและสีของแสงที่หลากหลาย ผลิตแสงสว่างได้ในปริมาณที่ต้องการ โดยใช้พลังงานน้อยลง มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่ามาก และกินไฟน้อยกว่าหลอดไฟชนิด อื่น ๆ
การเลือกสีของหลอดไฟให้เหมาะกับการใช้งาน
หลังจากที่ทำความรู้จักกับประเภทของหลอดไฟที่ใช้กันในบ้านเรือนที่พักอาศัยไปแล้ว ก็ต้องมาเลือกแสงสีของหลอดไฟให้เหมาะกับการใช้งานกัน โดยสีของหลอดไฟหรือที่ศัพท์ทางช่างจะเรียกว่า อุณหภูมิของสีของแสง (Colour Temperature) มีหน่วยวัดเป็น เคลวิน (K) ซึ่งถ้าอุณหภูมิสียิ่งต่ำ แสงที่ส่องออกมาจะเป็นสีโทนร้อน เช่น สีส้ม สีเหลือง แต่ถ้าอุณหภูมิสีสูงก็จะได้แสงในโทนเย็น เช่น สีขาว หรือสีฟ้า
หลอดไฟในปัจจุบัน สามารถแบ่งตามอุณหภูมิของสีได้ 3 ชนิด ได้แก่
- วอร์มไวท์ (Warm White) : มีอุณหภูมิอยู่ที่ 2,700-3,300 เคลวิน ให้แสงสีขาวอบอุ่นหรือนุ่มนวล เหมาะสำหรับพื้นที่ในบ้านที่ต้องการพักผ่อน เช่น ห้องนอน หรือสถานที่ให้ความบันเทิงอย่างห้องนั่งเล่น
- คูลไวท์ (Cool White) : มีอุณหภูมิอยู่ที่ 3,300-5,300 เคลวิน ให้ช่วงแสงสีขาวที่เป็นกลางมากกว่า มีความสมดุลระหว่างแสงสีที่อบอุ่นและนุ่มนวล เหมาะสำหรับห้องเรียน ห้องทำงาน และห้องครัว รวมถึงการใช้งานนอกอาคารต่าง ๆ เช่น ในสวน โรงรถ และสนามหญ้า
- เดย์ไลท์ (Daylight) : มีอุณหภูมิอยู่ที่ 5,300-6,500 เคลวิน ให้แสงเทียบเท่ากับแสงแดดตามธรรมชาติ เหมาะสำหรับใช้ในสำนักงาน เวิร์กช็อปงานฝีมือ ห้องน้ำ หรือห้องซักรีด

วิธีทิ้งหลอดไฟใช้แล้ว
หลอดไฟ ประกอบด้วยส่วนที่เป็นแก้วที่บอบบางและแหลมคมมาก รวมถึงมีชิ้นส่วนโลหะที่เป็นอันตราย จึงต้องทิ้งให้ถูกวิธีและถูกต้องตามประเภทของหลอดไฟ ดังนี้
- หลอดไส้และหลอดฮาโลเจน: ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เวลาทิ้งควรห่อด้วยกระดาษหรือผ้าหนา ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บในกรณีที่เกิดการแตกหัก
- หลอดฟลูออเรสเซนต์และหลอด CFL : มีส่วนประกอบของสารปรอทที่เป็นพิษ โลหะ และแก้ว ไม่ควรทิ้งรวมกับขยะทั่วไปในครัวเรือน จึงควรแยกทิ้งต่างหาก โดยสามารถทิ้งไว้ในถังขยะรีไซเคิลหรือจุดที่กำหนดได้ ทั้งนี้ การทิ้งหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่หักต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจจะมีไอปรอทจำนวนเล็กน้อยหลุดออกมาเมื่อหลอดแตกได้
- หลอดไฟ LED : ผลิตจากวัสดุที่รีไซเคิลได้ และไม่มีสารที่เป็นอันตรายหรือไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม สามารถทิ้งในถังรีไซเคิลได้เลย
ถึงตรงนี้หลายคนคงจะหมดข้อสงสัยในการเลือกหลอดไฟว่าจะเลือกประเภทอะไร ใช้แสงสว่างแบบไหนให้เหมาะสมกับการใช้งาน รวมถึงการเปลี่ยนหลอดเก่า และวิธีการทิ้งอย่างไรให้ปลอดภัย เพื่อให้ได้แสงสว่างที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการใช้งานในบ้านที่อยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด
ขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูล : https://home.kapook.com